ร้าน BUTTERCUP

รถเมล์ – คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์
“เป็นร้านขนมเค้ก มีอาหารเบาๆ สบายๆ ที่นี่ค่อนข้างสงบ บรรยากาศอบอุ่น เข้าไปนั่งแล้วเหมือนเราเข้าไปอยู่อารมณ์แบบเมืองนอก เป็นร้านแบบเก้าอี้ไม้เพ้นท์ มีโซฟา นั่งชิลล์ๆ มีเบเกอรีหอมๆ ขนม และไอศกรีม มานั่งกินที่ร้านนี้ทีไรจะสนุกมาก เราจะกระโดดขึ้นจากที่นั่งของเรา เพื่อไปดูว่าบนเคาท์เตอร์ที่เขาตั้งมีขนมอะไรบ้าง ในตู้มีอะไร ไอศกรีมมีอะไร รถเมล์เข้าไปดูในครัวมาแล้ว มีขนมอะไรที่น่ารักดี ขนมหลากหลาย ต้องลองไปชิม ไอศกรีมก็โฮมเมดทำเอง ลองไปดูค่ะ”

 

BUTTERCUP
ร้านขนมแสนหวานในบรรยากาศที่แสนอบอุ่น ภายในตกแต่งลงตัวเข้าคู่กับเฟอร์นิเจอร์ผสมผสานหลากหลายสไตล์ ทั้งคันทรีและสแกนดิเนเวียน มีรายละเอียดในสีสันด้วยดอกไม้สีเหลืองเล็กๆ บนโต๊ะ มุมสวนทางด้านนอกก็จัดได้น่านั่ง พร้อมสารพัดทั้งเมนูอาหาร กับเบเกอรีโฮมเมดเน้นความสดใหม่ ใช้ส่วนผสมในการปรุงอย่างดี เอาใจผู้ที่ชื่นชอบให้ได้เลือกชิมอย่างมากมาย แนะนำเมนูอาหารคาวก่อนเลยดีกว่ากับ “Beef Stroganoff” ใครที่ชอบทานเนื้อไม่ควรพลาดจานนี้เด็ดขาด เพราะเนื้อ Tenderloin ส่งตรงจากออสเตรเลีย เสิร์ฟพร้อมกับเส้นเฟตตูชินี เน้นรสชาติเข้มข้ม หอมกลิ่นปาปริก้า

  

มาถึงจานขนมแสนหวานอร่อยของเราบ้างกับเมนู “Buttercup Banana Pie” ซึ่งเป็นไฮไลท์ของร้าน หน้าตาน่าทาน ตรงฐานเค้กทำจากโอริโอ้คุกกี้ ให้ความรู้สึกกรุบกรอบเข้มข้น ส่วนชั้นที่ 2 กับ Dark Chocolate หอมหวานด้วยกล้วยหอมขั้นสลับกับวานิลลาครีม…ใครแวะเข้าไปชิมเป็นต้องติดใจ บอกต่อกันปากต่อปาก

สถานที่ : BUTTERCUP
ที่ตั้ง : อาคาร Amari Residence ซอยศูนย์วิจัย (เพชรบุรี 47) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : 02-319-9630
การเดินทาง : จากถนนเพชรบุรีตัดใหม่เลี้ยวขวาเข้ามาทางโรงพยาบาลกรุงเทพฯ วิ่งไปตามทางบังคับจะเห็นป้ายบอกทางไปจนถึงที่ตั้งร้าน
เวลาเปิดทำการ : เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.
ที่จอดรถ : บริเวณหน้าร้านหรือจอดในตึก Amari Residence


สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

วันเสด็จ ถาวรสุข
รองผู้ว่าการ ด้านตลาดในประเทศ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“ สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือ ที่เราเรียกจนติดปากว่า สะพานพุทธ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่อยู่ในใจข้าพเจ้าเสมอมา ด้วยความที่เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย จึงมีโอกาสใช้ชีวิตสมัยวัยรุ่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไป-กลับจากบ้านพักไปโรงเรียน หรือจากโรงเรียนไปยังที่ต่างๆ ประกอบกับสมัยนั้น สะพานพุทธ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง และสามารถเปิด-ปิด ให้เรือขนาดใหญ่ซึ่งสัญจรอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านไปมาได้ จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ข้าพเจ้า และเพื่อนๆ เสมอ นอกจากนั้นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ข้าพเจ้าและสหาย ชื่นชอบ เมื่อมีเวลา คือการแข่งกันทายว่ารถคันต่อไปที่จะวิ่งข้ามสะพานมาเป็นรถยี่ห้ออะไร ถึงแม้ปัจจุบัน ข้าพเจ้าจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ผ่านแถวนั้นบ่อยนัก แต่ว่าโอกาสใดที่ได้ลงเรือล่องในแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืนแล้ว แสงไฟที่ส่องสว่างแก่สะพานแห่งนี้ นอกจากจะให้ความงดงามทางสายตาแล้ว ยังทำให้ข้าพเจ้าได้รำลึกถึง เหตุการณ์ ในวัยเยาว์อย่างไม่ลืมเลือนเช่นเดียวกัน ”

 
สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ‘สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์’ เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อกรุงเทพมหานครครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ด้วยพระราชดำริที่จะสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชดำริว่าควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมจังหวัดพระนครกับธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อให้การคมนาคมติดต่อสะดวก ทั้งยังเป็นการขยายพระนครอีกด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้คิดแบบ พระบรมราชานุสาวรีย์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นประกอบกันเป็นปฐมบรมราชานุสรณ์ที่ปลายถนนตรีเพชร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจาก สะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัย รัชกาลที่ 6

นอกจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าจะเป็นที่ประดิษฐานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีลานสาธารณะให้คนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นลานกีฬาของเด็กนักเรียนในย่านนั้นด้วย ทั้ง ฟุตบอลและสเก๊ตบอร์ด ก็จะมีให้เห็นทุกวันในช่วงเย็นหลังโรงเรียนเลิก สำหรับในยามค่ำคืนพื้นที่ใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้าและสะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน ประมาณ 18 นาฬิกาเป็นต้นไปจนถึง 23 นาฬิกาโดยประมาณ จะเป็นตลาดนัดยามค่ำคืนที่มีสินค้าแฟชั่นหลากหลาย โดยเฉพาะสินค้ามือสอง อาทิ เสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ อีกทั้งยังมีศิลปินอิสระ ส่วนมากเป็นนักศึกษาเพาะช่างมารับวาดภาพและขายภาพวาดด้วย สนนราคาที่แสนถูก ประกอบกับรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ทำให้ตลาดสะพานพุทธในปัจจุบันคลาคล่ำด้วยวัยรุ่นจำนวนมากทุกค่ำคืน

สถานที่ : สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ที่ตั้ง : เชื่อมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ที่ปลายถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กับปลายถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี

การเดินทาง
รถประจำทางที่ผ่าน
สาย 3, 5, 6, 8, 10, 43, 53, 73, ปอ.6, ปอ.73, ปอ.82
ทางเรือ : เรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าสะพานพุทธ
เวลาเปิดทำการ : เปิดให้บริการทุกวัน…ทุกเวลา
ที่จอดรถ : บริเวณปากคลองตลาด


หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร
“ หวังอยากให้หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเป็นส่วนเสริมสร้างศักดิ์ศรีแก่กรุงเทพมหานคร สู่ความเป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลก ทั้งยังเป็นสถานที่ให้การศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมแก่ชุมชน และประชาชน โดยเชื่อมโยงทุนเดิมจากมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้เกิดองค์ความรู้หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และระดมทรัพยากรในการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นองค์กรส่งเสริมสร้างโอกาส ประสานการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างและพัฒนาระบบการบริหารจัดการหอศิลปฯ สู่ระดับมาตรฐานสากลและถูกใช้เป็นเวทีในการนำเสนอและบริหารจัดการ การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ”

  

        หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ บริเวณสี่แยกปทุมวัน ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือครั้งสำคัญในการส่งเสริมศิลปะระหว่างกรุงเทพมหานครและเครือข่ายประชาชนเพื่อหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตัวอาคารสูง 9 ชั้น (บวกอีก 2 ชั้นใต้ดิน) โดยในตัวอาคารถูกออกแบบมาให้เป็นทรงกระบอก
        ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาคารได้ด้วยทางเดินวนเป็นแนวเอียงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้ามาชมผลงานสามารถชมได้ต่อเนื่องในแต่ละชั้น นอกจากนี้ตัวอาคารยังออกแบบให้สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกได้ โดยที่แสงไม่แรงพอจะที่เข้ามาถึงขนาดทำลายผลงานศิลปะที่แสดงอยู่ข้างในได้ นอกจากห้องนิทรรศการที่มีอยู่หลายส่วนแล้ว ภายในยังมีส่วนที่เป็นห้องสมุดประชาชน ห้องปฏิบัติการศิลปะ ห้องอเนกประสงค์ 300 ที่นั่ง ร้านค้า รวมไปถึงโรงภาพยนตร์-โรงละครขนาด 222 ที่นั่ง

สถานที่ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง : สี่แยกปทุมวัน หัวมุมถนนพระรามที่ 1 และ ถนนพญาไท
ตรงข้าม มาบุญครองและสยามดิสคัฟเวอรี่ มีทางเดินเชื่อมต่อกับ
สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามกีฬาแห่งชาติ
โทรศัพท์ : ติดต่อสำนักงานหอศิลปะฯ 02-214-6630-8

การเดินทาง :
รถประจำทางที่ผ่าน สาย 11,16, 21, 25, 29, 34, 36, 47, 50, 54, 65, 79, 93, 141, 204, 501
รถไฟฟ้า   BTS ลงที่สถานีสยามหรือสนามกีฬาแห่งชาติ
เวลาเปิดทำการ : เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 21.00 น. ในวันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์)
ที่จอดรถ : ชั้นใต้ดินของตัวอาคารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


ตลาดสามย่าน

โดย: โอปอล์ – ปาณิสรา พิมพ์ปรุ
“โอปอล์ ชอบมาเดินที่ตลาดสามย่านตั้งแต่สมัยเรียนนิเทศจุฬาฯ ชอบกินอาหารแถวนี้ มีอาหารให้เลือกมากมาย พอกินเสร็จก็จะเดินมาเรื่อยๆ เดินมาสยาม เพื่อมาอัพเดตแฟชั่นใหม่ๆ ไม่ให้ตกเทรนต์ ให้รู้ว่ามีอะไรใหม่ๆ บ้าง โอปอล์ประทับใจสามย่านมากๆ จน มาเปิดร้านกาแฟชื่อ “มงคล” อยู่ที่นี่เลยค่ะ ใครที่นิยมของกินของอร่อย ลองมาหากินแถวนี้ได้ ถูกใจแน่นอน”

 

ตลาดสามย่าน ตั้งอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณจุฬาลงกรณ์ซอย 15 ตรงข้ามโรงภาพยนตร์สามย่านรามา (เดิม) (ช่วงต่อหัวมุมถนนพระราม 4 และถนนพญาไท) มีบริเวณที่ดินประมาณ 2.92 ไร่ เป็นอาคารที่ก่อสร้างมาพร้อมการทำสัญญาบูรณะปรับปรุง เขตอาคารพาณิชย์ ซึ่งบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นดำเนินการก่อสร้าง และเริ่มเป็นกิจการรตลาดเอกชน ใช้ชื่อว่า “ตลาดสามย่าน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ต่อมามอบให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารจัดการ


 
โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน ดังนั้นฝ่ายทรัพย์สินจึงกำหนดแผนงานปรับปรุงอาคารตลาดสามย่าน โดยพัฒนาให้เป็นตลาดที่คงการบริการแก่ชุมชนในระดับเดิม แต่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี มีมาตรการทางความสะอาดเป็นสำคัญ การจัดแผงต้องโปร่ง ไม่แออัด เช่นที่เป็นอยู่เดิม เพื่อพัฒนาให้เป็นตลาดตัวอย่างสมกับที่เป็นตลาดที่อยู่เคียงข้างเขตการศึกษา เริ่มดำเนินการด้วยการศึกษาและวิจัยของคณะอาจารย์ เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงเริ่มออกแบบปรับปรุงโดยคงสภาพโครงสร้างเดิมแต่ปรับปรุงด้านสถาปัตยกรรม การจัดแผงภายใน และเน้นหนักเครื่องระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงเริ่มเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2530 และเสร็จสมบูรณ์เดือนธันวาคม พ.ศ.2530 ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารและถนนโดนรอบทั้งสิน 3,841,953.5 บาท

ตลาดสามย่าน (ใหม่) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของตลาดสดสามย่าน ที่มีความจำเป็นกับวีถีชีวิตคนไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชุมชนมหาวิทยาลัย และชุมชนบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการย้ายตลาดเดิม ซึ่งมีสภาพไม่เอื่ออำนวยต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาตลาดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากและได้ก่อสร้างตลาดสามย่านแห่งใหม่บริเวณระหว่างซอยจุฬาฯ   32  และ   34  ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่และเหมาะสมกว่า อีกทั้งไกล้กับศูนย์รวมส่วนราชการ  หน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย   และอาคารจามจุรี 9 ซึ่งเป็นอาคารจอดรถรอบรับรถได้ 800 กว่าคัน เป็นการเอื้ออำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดหลักต้องการเป็นตัวอย่างตลาดสดที่ดีมีคุณภาพมาตรฐานสูง ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วิถีชุมชนของ นิสิต คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไป และธำรงไว้ซึ่งความมีชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ให้อยู่คู่จุฬาฯ ต่อไป

สถานที่ : ตลาดสามย่าน
ที่ตั้ง : อาคารตลาดสามย่าน เลขที่ 6 ซอยจุฬาฯ 9 ถนนพระราม 4 แขวงวังใหม่
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : 02-215-3662, 02-215-4664
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 4, 16, 45, 46, 47, 50, 67, 109, 141, 162, 163, 177 และ 507
เวลาเปิดทำการ : เปิดบริการทุกวัน ชั้น 1 เปิดเวลา 05.00-17.00 น. ชั้น 2
                    เปิดเวลา 05.00-24.00 น.
ที่จอดรถ : บริการอาคารจอดรถ ณ อาคารจามจุรี 9


คลองบางกอกน้อย

สุรพล เศวตเศรนี
ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


“ ผมเป็นเด็กฝั่งธนฯ โตมากับแม่น้ำจึงซึมซับวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ ทุกครั้งที่ได้ล่องคลองบางกอกน้อยไปตามคลองซอยต่างๆ ได้เห็นบ้านริมน้ำ สวนกล้วยไม้ วัดวาอาราม เรือขายของและวิถีชุมชนที่ยังคงสภาพเดิมก็จะมีความสุขมาก และความสุขนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศก็สามารถสัมผัสได้ เมื่อมาท่องเที่ยวที่นี่ ”

 

 

 คลองบางกอกน้อยเริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของสถานีรถไฟธนบุรีไหลขึ้นไปบรรจบคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) และ คลองลัดบางกรวย ตรงข้าม วัดสุวรรณคีรี มีความกว้างมากถึง 40 เมตร และยาว 3.3 กิโลเมตร…แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คลองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน

ปัจจุบันคลองบางกอกน้อยใช้สัญจรและท่องเที่ยว เพราะตลอดสองฝั่งคลองเรียงรายอยู่ด้วยภาพวิถีชีวิตไทย เด็กเล่นน้ำยามเย็น ชาวบ้านนั่งรับลมที่ศาลาหน้าบ้าน มีเรือไม้โบราณทรงยุโรปแล่นผ่านฉากหลังเป็นบ้านทรงไทย จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างไรที่สายน้ำแห่งนี้ มักจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเวียนวนมาเยือนเพื่อสัมผัสบรรยากาศร่มเย็นริมน้ำ แล้วชักชวนกันชื่นชมความงดงามของเรือพระที่นั่งที่อู่เรือพระราชพิธี พบเจอความวิจิตรของภาพฝาผนังที่วัดสุวรรณาราม แวะสักการะเจ้าแม่กวนอิม ทำบุญให้อาหารปลาสวาย ชื่นชมตำหนักแดง ขึ้นบกไปเที่ยวตลาดน้ำตลิ่งชัน รับประทานอาหารมื้อเที่ยงล้อมวงบนแพริมน้ำ ลงเรือต่อไปดูพระอุโบสถลอยน้ำกับหน้าบันกระจกสีที่วัดพิกุลทอง ก่อนจะเข้าชมพระอุโบสถเรือสำเภาสมัยสุโขทัยที่วัดชะลอ

คลองบางกอกน้อย : ใช้เป็นเส้นทางร่วมในงานชักพระ วัดนางชี ซึ่งมีขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยชักแห่ไปทางน้ำ ผ่านคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แล้ววกลงมาตามคลองบางกอกใหญ่กลับไปยังวัดนางชีตามเดิม

สถานที่สำคัญริมคลองบางกอกน้อย : วัดสุวรรณาราม วัดศรีสุดาราม วัดนายโรง วัดใหม่ยายแป้น วัดภาวนาภิรตาราม วัดสุวรรณคีรี วัดเชิงเลน วัดระฆัง พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี

 

 

 

 

  

 

 

 

สถานที่ : คลองบางกอกน้อย
ที่ตั้ง : แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครการเดินทาง : มีเรือจากท่าช้าง เส้นทางบางกอกน้อย-บางใหญ่ (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที)
เวลาเปิดทำการ : เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 6.30-21.00 น.