ตลาดสามย่าน

โดย: โอปอล์ – ปาณิสรา พิมพ์ปรุ
“โอปอล์ ชอบมาเดินที่ตลาดสามย่านตั้งแต่สมัยเรียนนิเทศจุฬาฯ ชอบกินอาหารแถวนี้ มีอาหารให้เลือกมากมาย พอกินเสร็จก็จะเดินมาเรื่อยๆ เดินมาสยาม เพื่อมาอัพเดตแฟชั่นใหม่ๆ ไม่ให้ตกเทรนต์ ให้รู้ว่ามีอะไรใหม่ๆ บ้าง โอปอล์ประทับใจสามย่านมากๆ จน มาเปิดร้านกาแฟชื่อ “มงคล” อยู่ที่นี่เลยค่ะ ใครที่นิยมของกินของอร่อย ลองมาหากินแถวนี้ได้ ถูกใจแน่นอน”

 

ตลาดสามย่าน ตั้งอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณจุฬาลงกรณ์ซอย 15 ตรงข้ามโรงภาพยนตร์สามย่านรามา (เดิม) (ช่วงต่อหัวมุมถนนพระราม 4 และถนนพญาไท) มีบริเวณที่ดินประมาณ 2.92 ไร่ เป็นอาคารที่ก่อสร้างมาพร้อมการทำสัญญาบูรณะปรับปรุง เขตอาคารพาณิชย์ ซึ่งบริษัทวังใหม่ จำกัด เป็นดำเนินการก่อสร้าง และเริ่มเป็นกิจการรตลาดเอกชน ใช้ชื่อว่า “ตลาดสามย่าน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ต่อมามอบให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารจัดการ


 
โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า และสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน ดังนั้นฝ่ายทรัพย์สินจึงกำหนดแผนงานปรับปรุงอาคารตลาดสามย่าน โดยพัฒนาให้เป็นตลาดที่คงการบริการแก่ชุมชนในระดับเดิม แต่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี มีมาตรการทางความสะอาดเป็นสำคัญ การจัดแผงต้องโปร่ง ไม่แออัด เช่นที่เป็นอยู่เดิม เพื่อพัฒนาให้เป็นตลาดตัวอย่างสมกับที่เป็นตลาดที่อยู่เคียงข้างเขตการศึกษา เริ่มดำเนินการด้วยการศึกษาและวิจัยของคณะอาจารย์ เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงเริ่มออกแบบปรับปรุงโดยคงสภาพโครงสร้างเดิมแต่ปรับปรุงด้านสถาปัตยกรรม การจัดแผงภายใน และเน้นหนักเครื่องระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงเริ่มเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2530 และเสร็จสมบูรณ์เดือนธันวาคม พ.ศ.2530 ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคารและถนนโดนรอบทั้งสิน 3,841,953.5 บาท

ตลาดสามย่าน (ใหม่) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญของตลาดสดสามย่าน ที่มีความจำเป็นกับวีถีชีวิตคนไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชุมชนมหาวิทยาลัย และชุมชนบริเวณใกล้เคียงมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการย้ายตลาดเดิม ซึ่งมีสภาพไม่เอื่ออำนวยต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาตลาดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่างมากและได้ก่อสร้างตลาดสามย่านแห่งใหม่บริเวณระหว่างซอยจุฬาฯ   32  และ   34  ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่และเหมาะสมกว่า อีกทั้งไกล้กับศูนย์รวมส่วนราชการ  หน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย   และอาคารจามจุรี 9 ซึ่งเป็นอาคารจอดรถรอบรับรถได้ 800 กว่าคัน เป็นการเอื้ออำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ภายใต้แนวคิดหลักต้องการเป็นตัวอย่างตลาดสดที่ดีมีคุณภาพมาตรฐานสูง ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วิถีชุมชนของ นิสิต คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย ประชาชนทั่วไป และธำรงไว้ซึ่งความมีชื่อเสียงของตลาดแห่งนี้ให้อยู่คู่จุฬาฯ ต่อไป

สถานที่ : ตลาดสามย่าน
ที่ตั้ง : อาคารตลาดสามย่าน เลขที่ 6 ซอยจุฬาฯ 9 ถนนพระราม 4 แขวงวังใหม่
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : 02-215-3662, 02-215-4664
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 4, 16, 45, 46, 47, 50, 67, 109, 141, 162, 163, 177 และ 507
เวลาเปิดทำการ : เปิดบริการทุกวัน ชั้น 1 เปิดเวลา 05.00-17.00 น. ชั้น 2
                    เปิดเวลา 05.00-24.00 น.
ที่จอดรถ : บริการอาคารจอดรถ ณ อาคารจามจุรี 9


คลองบางกอกน้อย

สุรพล เศวตเศรนี
ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


“ ผมเป็นเด็กฝั่งธนฯ โตมากับแม่น้ำจึงซึมซับวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำ ทุกครั้งที่ได้ล่องคลองบางกอกน้อยไปตามคลองซอยต่างๆ ได้เห็นบ้านริมน้ำ สวนกล้วยไม้ วัดวาอาราม เรือขายของและวิถีชุมชนที่ยังคงสภาพเดิมก็จะมีความสุขมาก และความสุขนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศก็สามารถสัมผัสได้ เมื่อมาท่องเที่ยวที่นี่ ”

 

 

 คลองบางกอกน้อยเริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาทางเหนือของสถานีรถไฟธนบุรีไหลขึ้นไปบรรจบคลองชักพระ (คลองบางขุนศรี) และ คลองลัดบางกรวย ตรงข้าม วัดสุวรรณคีรี มีความกว้างมากถึง 40 เมตร และยาว 3.3 กิโลเมตร…แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งช่วยย่นระยะทางได้ถึง 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คลองลัดทำให้คลองกว้างขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ส่วนแม่น้ำสายเดิมแคบลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่แทน

ปัจจุบันคลองบางกอกน้อยใช้สัญจรและท่องเที่ยว เพราะตลอดสองฝั่งคลองเรียงรายอยู่ด้วยภาพวิถีชีวิตไทย เด็กเล่นน้ำยามเย็น ชาวบ้านนั่งรับลมที่ศาลาหน้าบ้าน มีเรือไม้โบราณทรงยุโรปแล่นผ่านฉากหลังเป็นบ้านทรงไทย จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างไรที่สายน้ำแห่งนี้ มักจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศเวียนวนมาเยือนเพื่อสัมผัสบรรยากาศร่มเย็นริมน้ำ แล้วชักชวนกันชื่นชมความงดงามของเรือพระที่นั่งที่อู่เรือพระราชพิธี พบเจอความวิจิตรของภาพฝาผนังที่วัดสุวรรณาราม แวะสักการะเจ้าแม่กวนอิม ทำบุญให้อาหารปลาสวาย ชื่นชมตำหนักแดง ขึ้นบกไปเที่ยวตลาดน้ำตลิ่งชัน รับประทานอาหารมื้อเที่ยงล้อมวงบนแพริมน้ำ ลงเรือต่อไปดูพระอุโบสถลอยน้ำกับหน้าบันกระจกสีที่วัดพิกุลทอง ก่อนจะเข้าชมพระอุโบสถเรือสำเภาสมัยสุโขทัยที่วัดชะลอ

คลองบางกอกน้อย : ใช้เป็นเส้นทางร่วมในงานชักพระ วัดนางชี ซึ่งมีขึ้นในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี โดยชักแห่ไปทางน้ำ ผ่านคลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แล้ววกลงมาตามคลองบางกอกใหญ่กลับไปยังวัดนางชีตามเดิม

สถานที่สำคัญริมคลองบางกอกน้อย : วัดสุวรรณาราม วัดศรีสุดาราม วัดนายโรง วัดใหม่ยายแป้น วัดภาวนาภิรตาราม วัดสุวรรณคีรี วัดเชิงเลน วัดระฆัง พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี

 

 

 

 

  

 

 

 

สถานที่ : คลองบางกอกน้อย
ที่ตั้ง : แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครการเดินทาง : มีเรือจากท่าช้าง เส้นทางบางกอกน้อย-บางใหญ่ (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที)
เวลาเปิดทำการ : เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 6.30-21.00 น.



ชมกระทิงฝูง กลางป่าดงพญาเย็น จ.นครราชสีมา

 แหล่งเดียวในเมืองไทยเห็นวัวกระทิงได้ง่ายสุด
คือที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นรอยต่อ 5 จังหวัด
นครราชสีมา นครนายก สระบุรี
ปราจีนบุรี และสระแก้ว

ป่ามรดกโลกผืนล่าสุดนี้ คือกลุ่มป่าดงพญาเย็นในอดีต ซึ่งวันนี้กลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ หลังจากฝนแรกในเดือนเมษายนผ่านไปหญ้าอ่อนก็จะแตกใบ นี่คือวันเวลาที่ดีที่สุด ที่กระทิงจะออกมาหากินตามทุ่งหญ้า โป่งสัตว์และแหล่งน้ำซับ แหล่งดูกระทิงวันนี้ที่เห็นง่ายที่สุด คือ คลองปลากั้ง เขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมาและตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด: 17.00 น. ถึงพลบค่ำ
ฤดูกาลที่ดีที่สุด: ต้นฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคม
จุดชมวิวที่ดีที่สุด: จุดชมกระทิงคลองปลากั้ง เขาแผงม้าและตาพระยา

เส้นทางการเดินทาง จาก อ.ปากช่อง
ใช้ทางหลวงหมายเลข 2090 บริเวณหน้าด่านขึ้นเขาใหญ่มีทางแยกซ้ายมือไป อ.วังน้ำเขียว ไปต่ออีกราว 45 กิโลเมตร ถึงหน่วยพิทักษ์ป่าคลองปลากั้ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อที่ ททท.สำนักงานนครราชสีมา
โทร. 044 213 030, 044 213 666


เที่ยวน้ำหนาวฤดูฝน ไปยลกล้วยไม้ยักษ์ เอื้องบุษราคัม

น้ำหนาว รู้จักกันดีว่าเป็นป่าเปลี่ยนสี
ที่สวยที่สุดยามต้นฤดูหนาว แต่ใครเล่า
จะรู้ว่า ถ้าไปน้ำหนาวต้นฝน คุณจะได้ยล
กล้วยไม้ยักษ์มหัศจรรย์ในโลกที่เขียวขจี

ป่าน้ำหนาวเป็นป่าผืนใหญ่ในเทือกเขาเพชรบูรณ์ มากมายด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จากสังคมป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าสน จนถึงสังคมทุ่งหญ้าที่มีความน่าสนใจ ทั้งชีวิตพืชและสัตว์ป่าหายาก ช่วงต้นฤดูฝนบนภูกุ่มข้าวซึ่งมีทุ่งหญ้าและป่าสนสวยที่สุดของน้ำหนาว ที่นี่มีสิ่งมหัศจรรย์ซ่อนอยู่ คือ กล้วยไม้ยักษ์เอื้องบุษราคัม (Eulophia flava) ซึ่งความสูงใหญ่ของมันอาจสูงได้เกิน 2 เมตร ช่อดอกเหลืองอร่าม ราวบุษราคัมตามชื่อเรียก

    

ช่วงเวลาที่ดีที่สุด: ช่วงเวลาเช้าก่อน 09.00 น.
ฤดูกาลที่ดีที่สุด: เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
จุดชมวิวที่ดีที่สุด: บริเวณเชิงภูกุ่มข้าว ที่สามารถชมวิวและดูนกได้ด้วย

เส้นทางการเดินทาง
 จาก จ.เพชรบูรณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 21 ถึง อ.หล่มสัก เลี้ยวขวาทางหลวงหมายเลข 12 ถึงกิโลเมตรที่ 50 ที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อที่ ททท.สำนักงานพิษณุโลก
โทร. 055 252 742-3, 055 259 907


เกาะไหง เกาะในฝันสวรรค์ของคนรักหาดทรายชายทะเล

เกาะไหง เกาะกลางทะเลอันดามันที่มีเวิ้งน้ำสีเขียวมรกตกับหาดทรายสีขาวยาวเหยียดสุดสายตาตัดกับทิวมะพร้าวชายหาดเรียงราย ที่นี่คือเกาะในฝันที่เหมาะกับคนรักหาดทรายอย่างแท้จริงเกาะแห่งนี้มีหาดทรายอยู่ด้านหน้าของตัวเกาะที่หันออกสู่ทะเลด้านทิศตะวันออก จึงเหมาะกับการดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าแล้วรอจนแสงแดดเจิดจ้า เวิ้งน้ำด้านหน้าจะกลายเป็นสีเขียวมรกตงดงาม ที่หน้าแปลกเกาะแห่งนี้อยู่ในจังหวัดกระบี่แต่การเดินทางที่ใกล้ที่สุดกลับต้องมาจากหาดปากเมงของจังหวัดตรังแต่ก็ต้องถือว่าคุ้มค่าเพราะการมาเที่ยวเกาะไหงสามารถเดินทางเที่ยวเกาะมุก เกาะกระดาน ถ้ำมรกต และดำน้ำ ดูปะการังรอบเกาะเชือกเกาะม้าเขตจังหวัดตรังที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ในคราวเดียวกัน

– ฤดูกาลท่องเที่ยว : ปลายเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนเมษายน เป็นฤดูที่ดีที่สุด
– เวลาที่ดีที่สุด : ช่วงเวลาราว 10.00 น. ถึง 15.00 น.
– การเดินทาง : จากเกาะลันตามีเรือเฟอร์รี่ไปเกาะไหงคนละ 450 – 500 บาท เรือเร็ว 650 บาท ให้บริการเฉพาะฤดูท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคม จากหาดปากเมง อำเภอสิเกา มีเรือโดยสารไปเกาะไหงเช่าเหมาลำ 1,200 ถึง 1,500 บาท